บทความ | สาระน่ารู้อื่นๆ

3 Steps เช็กและดูแลรถยนต์หลังน้ำท่วม

3 Steps เช็กและดูแลรถยนต์หลังน้ำท่วม
27/10/2021  สาระน่ารู้อื่นๆ

3 Steps เช็กและดูแลรถยนต์หลังน้ำท่วม 

สุภาษิตในอดีตพูดไว้ว่าน้ำลดมดกินปลา แต่กับสมัยนี้ที่ฤดูฝนมาพร้อมน้ำท่วมสูงในหลายพื้นที่นั้น น่าจะต้องเปลี่ยนเป็น “น้ำลด รถต้องซ่อม” ดูจะเข้ากับสถานการณ์มากกว่า เพราะเมื่อน้ำหายท่วม บรรดาคนมีรถก็ต้องพาลูกรักของตัวเองเข้าอู่กันยกใหญ่ เพื่อทำให้กลับมามีสภาพพร้อมใช้งานเหมือนเก่า 

ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ทุกเคสที่จะต้องไปจบที่อู่ ถ้าไม่เสียหายมาก เจ้าของรถก็สามารถแก้ไขปัญหาเองได้ หรือถึงจะแก้ไขเองไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ เพียงรู้ 3 Steps ในการเช็กและดูแลรถยนต์เหล่านี้เอาไว้ 

ประเมินความเสียหายด้วยตาเปล่า

ขั้นแรกอยากให้ทุกคนประเมินความเสียหายของรถตัวเองก่อนว่าอยู่ในระดับไหน โดยแบ่งได้เป็น 2 ระดับหลัก ๆ คือ เสียหายระดับเบื้องต้น คือ น้ำท่วมไม่สูงถึงตัวเครื่อง (อาจเปิดดูตัวเครื่องเพื่อเช็กความเสียหายเพื่อความชัวร์) และเสียหายระดับสูง คือการที่น้ำท่วมสูงกว่าตัวเครื่องขึ้นไปจนถึงมิดหลังคา 

ลงมือเช็กรถเบื้องต้น

เมื่อประเมินด้วยตาเปล่าแล้วพบว่ารถอยู่ในระดับที่เสียหายไม่มาก น้ำไม่เข้าเครื่อง ให้ปฏิบัติดังนี้

  1. เปิดประตูและหน้าต่างรถทุกบาน เพื่อระบายอากาศและไล่ความชื้น แม้น้ำจะท่วมไม่ถึงข้างในรถก็ตาม หรือถ้าน้ำท่วมถึงในรถ ก็ให้ทำความสะอาดภายในรถเพิ่มด้วย พร้อมกับนำพรมและแผ่นยางปูพื้นออกมาทำความสะอาดและตากแดด เพราะรถที่แช่น้ำนาน ๆ จะเกิดราได้ง่าย ซึ่ง “รา” คือตัวการของความสกปรก กลิ่นเหม็นอับ และโรคผิวหนังของมนุษย์และสัตว์เลี้ยง
  2. ถ้ามั่นใจว่าน้ำท่วมไม่ถึงตัวเครื่องแน่ ๆ ให้สตาร์ทรถเพื่อตรวจสอบการทำงานของระบบไฟฟ้าของรถ และการทำงานอื่น ๆ เช่น ไดสตาร์ท ระบบแอร์ ไฟเลี้ยว ระบบเบรก ไฟเบรก ไฟหน้ารถ ตัวเลขต่าง ๆ บนคอนโซลรถ เกจ์น้ำมัน เป็นต้น เพื่อประเมินความผิดปกติ แล้วจดบันทึกไว้ เผื่อต้องใช้พูดคุยกับช่าง
  3. ล้างคราบน้ำ คราบดินโคลนที่สกปรกภายนอกรถให้สะอาด โดยเฉพาะตามซอกล้อและซอกช่วงล่าง เพราะการฝังแน่นของคราบสกปรกอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการขับขี่ในอนาคตได้
  4. นำรถเข้าอู่เพื่อทำการตรวจเช็กและดูแลรถด้วยช่างมืออาชีพ เพื่อความชัวร์อีกครั้ง พอถึงขั้นตอนนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมไม่เอารถมาเข้าอู่ให้มันจบไปแต่แรกเลย สาเหตุก็เพราะเมื่อไปอู่ซ่อมรถ เวลาทุกนาทีคือเงินทอง เรื่องง่าย ๆ ที่ทำเองได้ก็อาจต้องเสียเงินได้มากกว่าที่คิด หรืออาจจะถูกชักจูงให้เสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ดังนั้นการที่เราเช็กรถด้วยตัวเองก่อน จะทำให้รู้ว่าตรงไหนควรซ่อม และตรงไหนไม่จำเป็นต้องซ่อม ช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายได้มากเลยทีเดียว

แต่ถ้าประเมินด้วยสายตาแล้วเห็นว่าน้ำท่วมถึงตัวเครื่องแล้วแน่ ๆ ห้ามทำเหมือนกรณีแรกเด็ดขาด ควรระมัดระวังมากขึ้น และปฏิบัติดังนี้

  1. ห้ามสตาร์ทรถเด็ดขาด เพราะจะทำให้กระแสไฟฟ้าทำงานผิดปกติและเครื่องพังหนักกว่าเดิม หรือถ้าร้ายแรงกว่านั้น ผู้ขับขี่อาจโดนไฟช็อตไปด้วย 
  2. ถอดแบตเตอรี่ออก แล้วค่อยตรวจสอบอุปกรณ์อื่น ๆ เท่าที่จะทำได้ เช่น การรั่วไหลของน้ำมัน เช็กความเสียหายของห้องเครื่อง ห้องโดยสาร ท่อไอเสีย ช่วงล่างของรถ ฯลฯ
  3. เปิดประตูหน้าต่างออกทุกบาน ทำความสะอาดเบาะและห้องโดยสาร นำพรมและแผ่นยางปูพื้นภายในรถออกมาทำความสะอาดและตากแดด เพื่อระบายอากาศและกำจัดเชื้อราเช่นเดียวกับในกรณีแรก 
  4. ติดต่ออู่ซ่อมรถให้ลากรถของเราไปซ่อม

ติดต่อประกันรถ

ขั้นตอนสุดท้ายที่จะช่วยให้คนมีรถไม่น้ำตาตกกับค่าซ่อมและไม่ต้องเหนื่อยวิ่งเต้นจัดการทุกอย่างเอง คือการติดต่อบริษัทประกันเพื่อให้ดำเนินการทุกอย่างแทน รวมถึงการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย จะเห็นได้ว่าการมีประกันเอาไว้ ถือเป็นความอุ่นใจครั้งใหญ่มากจริง ๆ

แต่ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว และยังไม่มีประกันรถที่คุ้มครองกรณีน้ำท่วม ก็อยากให้ตัดสินใจทำประกันไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะ “น้ำ” อาจทำให้รถพังได้มากกว่าที่คิด ซึ่งนั่นหมายความว่าคุณต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายอันแสนหนักอึ้งนี้ไว้คนเดียว

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ