9 สัญญาณเตือน โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายหน้าฝน!
เข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย ทำให้เริ่มมีฝนตกหนักแทบทุกวัน ซึ่งการที่ฝนตกมักจะมาพร้อมกับเชื้อไวรัสและโรคระบาดต่างๆ ที่มาพร้อมกับฝน หนึ่งในนั้นโรคที่พบบ่อยในช่วงนี้คงหนีไม่พ้น “โรคไข้เลือดออก”
เนื่องจากฝนตกทำเกิดน้ำท่วมขังหลายที่ไม่ว่าจะเป็นพื้นถนนบริเวณที่มีบ่อหลุม ตามภาชนะต่างๆ ที่ไม่มีหลังคาปกคลุม หรือแม้กระทั่งฝนตกหนักจนทำให้เกิดเป็นแอ่งน้ำท่วมขังขนาดย่อม นำไปสู่แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ต้นเหตุของโรคไข้เลือดออก
วันนี้ SMILE INSURE จะพามารู้จักโรคไข้เลือดออก โรคร้ายที่มาพร้อมกับหน้าฝนเพื่อให้คุณรู้ทันโรคนี้และระวังตัว พร้อมวิธีรับมือ ป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกเกิดจากอะไร?
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะยุงลายตัวเมียที่ชอบหากินในเวลากลางวัน ผู้ที่ถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่กัดอาจเกิดการติดเชื้อ
โดยเริ่มตั้งแต่ไม่มีอาการ มีอาการไข้ไม่รุนแรง หรือจนถึงขั้นป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีอาการมีไข้สูง มีน้ำเลือดหรือพลาสมารั่วออกนอกเส้นเลือดจนอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะช็อกจนเสียชีวิต นอกจากนี้อาจเกิดอาการเลือดออกและมีภาวะแทรกซ้อนที่อวัยวะต่างๆ เช่น อาการทางสมอง หรือ ตับ เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม: 5 วิธี เตรียมความพร้อม ดูแลสุขภาพช่วงหน้าฝน
เชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) มีกี่สายพันธุ์?
เชื้อไวรัสเดงกีซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 นั้นมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฝังตัวภายในกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุงโดยมีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน
เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสไปกัดคนอื่นๆ ต่อ เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกตามมา
รู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เคยได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใด ก็จะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์นั้น แต่ถ้าได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ต่างออกไปจากครั้งแรกก็สามารถเป็นไข้เลือดออกได้อีก และโดยทั่วไปอาการของโรคครั้งที่สองมักรุนแรงกว่าครั้งแรก
แนวโน้มผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ปี 2566
สธ. เผย สถานการณ์โรคไข้เลือดออก มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น รวมผู้ป่วย 19,503 ราย เสียชีวิตรวม 17 ราย มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว 3.8 เท่า พบสูงสุด 5 จังหวัด
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 ประเทศไทยจะพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากขึ้นตามวงรอบของปีที่จะระบาด
โดยในปีนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 มิถุนายน 2566 พบรายงานผู้ป่วยจำนวน 19,503 ราย คิดเป็นอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน 29.47 เสียชีวิต 17 ราย และจำนวนผู้ป่วยปี 2566 มากกว่า ปี 2565 ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 3.8 เท่า
ใครบ้าง? ที่เสี่ยงเป็นไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น โดยเฉพาะเด็กทารก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ จะมีภาวะเสี่ยงต่อโรคที่รุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ
สังเกต 9 สัญญาณ อาการไข้เลือดออก
1. มีไข้สูงมากเกิน 38.5 องศาเซลเซียส นาน 2-7 วัน (แต่ถ้าหายไข้ภายใน 1-2 วัน แสดงว่าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา)
2. ปวดศีรษะมาก ปวดรอบๆ กระบอกตา รู้สึกอ่อนเพลียนานหลายวัน หรือหลายสัปดาห์
3. ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดเมื่อยตามตัว
4. มีผื่นแดงขึ้นที่หน้า คอ และหน้าอก และมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายอยู่ตามตัว
5. คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกเบื่ออาหาร
6. ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ แต่ถ้าเป็นไม่มากนัก อาจมีแค่เลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดกำเดาไหลเท่านั้น
7. ปวดท้องมาก คลำพบตับโต ปวดที่ชายโครงขวาในระยะที่มีตับโต
8. ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ชีพจรเบาเร็ว มือเท้าเย็นกระสับกระส่าย
9. มีอาการรุนแรง ช็อก หมดสติ ต้องรีบพาพบแพทย์ รักษาตัวที่โรงพยาบาล
ระยะอาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออก
ระยะเริ่มต้น จะมีระยะไข้ (2-7 วัน) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา
ระยะช็อค ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ
ในรายที่รุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อค และอาจถึงตายได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายไม่จำเป็นต้องเป็นรุนแรงและเข้าสู่ภาวะช็อคทุกราย ในผู้ป่วยไข้เลือดออกที่อาการไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดก็จะมีอาการดีขึ้น รับประทานอาหารได้ เข้าสู่ระยะฟื้นตัว
ระยะฟื้นตัว อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว
การรักษาโรคไข้เลือดออก
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไวรัสเดงกี แพทย์ปัจจุบันจึงให้ยารักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยให้ยาพาราเซทตามอลในช่วงที่มีไข้สูง แต่ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียน
แพทย์จะให้ยาแก้คลื่นไส้และให้ดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำผลไม้ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง และคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ป้องกันภาวะช็อคได้ ในรายที่พบช่วงระยะที่ช็อคส่วนใหญ่จะเกิดพร้อมๆ กับช่วงที่ไข้ลดลง
คือ อาจมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง มีอาการกระสับกระส่ายหรือซึมลง มือเท้าเย็นพร้อมๆ กับไข้ลดลง หน้ามืด เป็นลมง่าย หากเป็นดังนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก
1. ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด
เมื่อต้องออกจากบ้านโดยเฉพาะเวลากลางวันควรใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และให้อยู่ในห้องที่มีมุ้งลวด หรือห้องปรับอากาศ อาจใช้ยาทากันยุงทาตัวร่วมด้วย
2. ตรวจสอบภาชนะ หรือบริเวณแหล่งน้ำขัง ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
เช่น สวนน้ำ ถาดรองกระถางต้นไม้ จุดน้ำขังต่างๆ รวมถึงเปลี่ยนน้ำในชามน้ำของสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการวางไข่ของยุงลาย
3. ใส่ทรายอะเบทในแหล่งน้ำนิ่งภายในบ้าน
เช่น อ่างปลา บ่อบัว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแห่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
4. เสริมภูมิต้านทานร่างกายให้แข็งแรง
ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่เป็นประโยชน์ เพราะ ถ้าเกิดเป็นไข้เลือดออกขึ้นมา ก็จะมีอาการไม่รุนแรง เพราะมีภูมิต้านทานดีนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม: 3 เหตุผลสำคัญ! ทำไมถึงควรทำประกันสุขภาพ?
นอกจากป้องกันตนเองเบื้องต้น การทำประกันสุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญมากที่ไม่ควรมองข้าม อย่าลืมทำประกันสุขภาพดีๆ ไว้สักฉบับเพราะจะช่วยเพิ่มความคุ้มครองให้ตัวเราและยังถือเป็นการวางแผนการใช้เงิน ช่วย Save ค่าใช้จ่าย ยามเจ็บป่วย หรือ เมื่อต้องนอนโรงพยาบาล
ถ้าอยากทำประกันสุขภาพเราแนะนำ โบรกเกอร์ที่น่าเชื่อถืออย่าง SMILE INSURE เพราะที่นี่พร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการของคนทำประกันออนไลน์ทุกประเภท พร้อมให้บริการคุณอย่างรวดเร็ว สนใจทําประกันสุขภาพ คลิก SMILE INSURE