ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล “เอื้อสุข”
ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล “เอื้อสุข”
ประกันภัยอุบัติเหตุ เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัย ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย และหากผลของการบาดเจ็บนั้นส่งผลให้ผู้เอาประกันภัย ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะเข้ามารับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจาก การรักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย หรือจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์ ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยต้องสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต โดยให้ความคุ้มครองต่ออุบัติเหตุตลอด 24 ชั่วโมง ทุกแห่งทั่วโลก
ตารางความคุ้มครอง แผน 1-10
เงื่อนไขความคุ้มครอง
1. ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี ตลอด 24 ชม. คุ้มครองทั่วโลก
2. ผู้ทำประกันภัยมีอายุ ระหว่าง 15-20 ปี สามารถทำประกันภัยได้เพียง 500,000 บาท
3. ผู้ทำประกันภัยมีอายุ ระหว่าง 21-60 ปี สามารถทำประกันภัยสูงสุด 1,000,000 บาท
4. โครงการนี้ภายใต้แผน 6-10 ไม่คุ้มครองกลุ่ม - ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง, พนักงานขับรถทุกประเภท,ยามรักษาความปลอดภัย, กรรมกรทุกสาขา อาชีพ เช่นแรงงานก่อสร้าง,แรงงานรับขนส่ง เป็นต้น
5. ผู้เอาประกันภัยสามารถต่ออายุได้ไม่เกิน 70 ปี โดยคิดเบี้ยเพิ่ม
- อายุ 61 – 65 ปี เพิ่ม 20% ของเบี้ยข้างต้น
- อายุ 66 – 70 ปี เพิ่ม 40% ของเบี้ยข้างต้น
6. การรับประกันภัยจะมีผลบังคับเมื่อบริษัทได้อนุมัติใบคำขอแล้ว
การประกันภัยอุบัติเหตุแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล(คุ้มครองแบบอบ. 1 หรืออบ. 2)
2. กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม (คุ้มครองแบบอบ. 1 หรือ อบ. 2)
3. กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษา (คุ้มครองแบบอบ. 1)
ในกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และอุบัติเหตุกลุ่มนั้น จะมีแบบให้เลือก 2 แบบ คือ แบบ อบ. 1 และ แบบ อบ. 2 ซึ่งทั้งสองแบบ จะให้ความคุ้มครองแตกต่างกันเล็กน้อย คือ
แบบ อบ. 1
มีความคุ้มครอง 4 ความคุ้มครอง (เลือกซื้อได้) ได้แก่
1. การเสียชีวิตผู้เอาประกันประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่ชีวิตภายใน 180 วัน นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ ผู้รับประโยชน์จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เต็มตามจำนวนเงินเอาประกันภัย
2. การสูญเสียอวัยวะ สายตา การรับฟังเสียงและการพูดออกเสียง ผู้เอาประกันประสบอุบัติเหตุจนทำให้ต้องสูญเสียอวัยวะ ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุผู้เอาประกันจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัดส่วนของจำนวนเงินเอาประกันภัย
3. ทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร ผู้เอาประกันประสบอุบัติเหตุจนทำให้ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรภายใน 180 วัน นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ ผู้เอาประกันจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนเงินเอาประกันภัย
4. ค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุ ผู้เอาประกันประสบอุบัติเหตุจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล บริษัทฯ จะชดเชยค่ารักษาพยาบาลที่ผู้เอาประกันภัยได้จ่ายไปจริง ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 52 สัปดาห์ นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์
แบบ อบ. 2
มีความคุ้มครองเพิ่มจาก อบ. 1 คือ การสูญเสียนิ้ว การสูญเสียการรับฟังเสียง/การพูดออกเสียง และการทุพพลภาพถาวรบางส่วน
1. ผู้เอาประกันภัยสามารถ เลือกความคุ้มครองที่ตรงกับความต้องการ โดย อ.บ. 2 มีความคุ้มครองสูงกว่าอบ. 1 ซึ่งจะมีเบี้ยประกันภัย สูงกว่า อ.บ. 1 เล็กน้อย หรืออาจจะเลือกซื้อความคุ้มครองเฉพาะบางอย่างก็ได้ เช่น ต้องการเพียงการเสียชีวิตสูญเสียอวัยวะ และทุพพลภาพ โดยไม่เอา ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเบี้ยประกันภัย ก็จะผันแปรตามความคุ้มครองที่ต้องการของลูกค้าด้วย
2. การประกันอุบัติเหตุ จะให้ความคุ้มครองรวมถึงการถูกฆาตกรรม หรือ ถูกทำร้ายร่างกายด้วย ไม่ว่าการถูกฆาตกรรมหรือถูกทำร้ายร่างกายจะเป็นไปโดยเจตนา หรือไม่ก็ตาม หากผู้เอาประกันภัยเห็นว่า ตนไม่มีความเสี่ยงภัยในการถูกฆาตกรรม หรือถูกทำร้ายร่างกาย ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่เอาประกันภัยในส่วนนี้ก็ได้ โดยผู้เอาประกันภัยจะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยส่วนนี้ไปอีกด้วย
ข้อยกเว้น (ไม่จ่ายผลประโยชน์)
การประกันภัยอุบัติเหตุ จะมุ่งให้ความคุ้มครองที่เป็นความเสี่ยงภัยพื้นฐานด้านอุบัติเหตุทั่วไปของคนเท่านั้น ดังนั้นจึงมีการกำหนดข้อยกเว้นในกรมธรรม์ PA ที่จะไม่คุ้มครองในเหตุการณ์บางอย่าง เช่น
• การกระทำของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุราหรือยาเสพติด
• การฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายร่างกายตนเอง
• แท้งลูก
• สงคราม การปฏิวัติ รัฐประหาร การกบฎ การก่อการร้าย
• การจลาจล การนัดหยุดงาน การที่ประชาชนก่อความวุ่นวายลุกฮือต่อต้านรัฐบาล
• การแผ่รังสีหรือกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ อาวุธนิวเคลียร์
• การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย ผาดโผน เช่นการดำน้ำ การเล่นบันจี้จั๊มพ์ เล่นสกี แข่งสเก็ต การแข่งรถ แข่งเรือ เป็นต้น
• ขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
• ขณะที่โดยสารอยู่ในเครื่องบินที่มิใช่สายการบินพาณิชย์ เช่น เฮลิคอปเตอร์
• ขณะที่เข้าร่วมการทะเลาะวิวาท ก่ออาชญากรรม หรือหลบหนีการจับกุม
• ขณะที่เข้าปราบปรามหรือปฏิบัติการทางสงครามหากผู้เอาประกันภัยเป็นทหาร ตำรวจ หรืออาสาสมัคร
หากผู้เอาประกันภัยต้องการขยายความคุ้มครองไปถึงภัยที่มีการยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยได้แก่ การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย การโดยสารอากาศยานที่มิได้ประกอบการโดยสายการบินพาณิชย์ การโดยสารเฮลิคอปเตอร์ การจลาจล/นัดหยุดงาน สงคราม การก่อการร้าย ด้วยแล้ว สามารถขอซื้อภัยเพิ่มเพื่อขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมความเสี่ยงของแต่ละท่านได้จากเจ้าหน้าที่ของบริษัท แต่เบี้ยประกันภัยก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ชั้นอาชีพที่มีผลทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยแตกต่างกันตามความเสี่ยงของชั้นอาชีพ ดังนี้
(รายละเอียด กรุณาศึกษาจากคู่มือขั้นอาชีพสำหรับการรับประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลของบริษัท)
• อาชีพชั้น1 (ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุน้อย) ตัวอย่างขั้นอาชีพ 1 ผู้บริหารระดับสูง เจ้าของกิจการขนาดใหญ่ นายแพทย์ พยาบาล ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ครู อาจารย์ ช่างเสริมสวย (ขายทอง อัญมณี ขายยา ภัตตาคาร สนามกอล์ฟ ปั้มน้ำมัน) สถาปนิก วิศวกร นักออกแบบ
• อาชีพชั้น 2 (ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุปานกลาง) ตัวอย่างขั้นอาชีพ 2 เจ้าของกิจการ (ร้านอาหาร รับซื้อของเก่า อู่ซ่อมรถ โรงกลึง ปะยาง) เจ้าของ (นา สวน ไร่ ฟาร์ม) พนักงานทำความสะอาด สัตวแพทย์ คนขับรถบรรทุกเล็กส่งของ หัวหน้าคนงาน ช่าง(สี ไม้ ปูน) ปฏิมากรภาพผนัง หาบเร่ นักดนตรี พนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร
• อาชีพชั้น 3 (ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุสูง) ตัวอย่างขั้นอาชีพ 3 อาชีพที่ใช้รถจักรยานยนต์ คนขับรถบรรทุกหนัก 6 ล้อ ถึง 10 ล้อ ช่างไฟฟ้า ช่างกลึง กรรมกร คนงานก่อสร้าง คนขับรถเครน
• อาชีพชั้น 4 (ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุสูงมาก) ตัวอย่างอาชีพพิเศษที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าชั้นอื่น ๆ เป็นพิเศษ เช่น นักแสดงผาดโผน สแตนอิน พนักงานทำความสะอาดกระจกอาคารสูง เป็นต้น