รวมเรื่องน่ารู้ก่อนตัดสินใจทำ “ประกันอัคคีภัย”
รู้หรือไม่? ข่าวไฟไหม้บ้าน ไฟไหม้โรงงาน ที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในประเทศเท่านั้นนะ
เพราะสถิติย้อนหลังจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บอกไว้ว่า ในแต่ละปีมีไฟไหม้ หรืออัคคีภัย เกิดขึ้นหลายร้อยครั้ง เช่น ปี 2564 เกิดขึ้นประมาณ 350 ครั้ง, ปี 2565 726 ครั้ง และปี 2566 เกิดขึ้นแล้วกว่า 366 ครั้ง
นอกจากนี้ สถิติยังบอกอีกว่า “ไฟไหม้” เป็นสาธารณภัยที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด เมื่อเทียบกับภัยแบบอื่น จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเดี๋ยวนี้ ใครๆ ถึงหันมาให้ความสำคัญกับ “ประกันอัคคีภัย” กันมากขึ้น
แต่ก่อนที่จะตัดสินใจทำประกันอัคคีภัย SMILE INSURE อยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับประกันประเภทนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้ไม่พลาดในจุดสำคัญ
ประกันอัคคีภัยคืออะไร?
ประกันอัคคีภัย (Fire Insurance) เป็นประกันภัยที่คุ้มครองความเสียหาย และจ่ายค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจาก “ไฟไหม้”
หรืออาจรวมถึงสาเหตุอื่นๆ ตามที่กรมธรรม์แต่ละฉบับกำหนดไว้ โดยผู้ที่จะทำประกันภัยประเภทนี้ได้ จะต้องเป็นเจ้าของ หรือมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างที่ทำประกันภัยเท่านั้น
ประกันอัคคีภัยมีกี่ประเภท?
ในอดีตประกันอัคคีภัยจะมีเพียงประเภทเดียวเท่านั้น คือ ประกันอัคคีภัยมาตรฐาน แต่ภายหลังเมื่อผู้บริโภคมีความต้องการให้ประกันคุ้มครองรอบด้านมากขึ้น ประกันจึงได้ถูกพัฒนาเป็น 3 ประเภท ได้แก่
2. ประกันอัคคีภัยมาตรฐาน
สำหรับใครที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือไม่ชัวร์ว่ากรมธรรม์ประกันอัคคีภัยมาตรฐาน ประกอบด้วยอะไรบ้าง? หรือคุ้มครองอะไรกันแน่? เรารวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว
ประกันอัคคีภัยมาตรฐาน มีเงื่อนไขความคุ้มครองกรณีต่างๆ ดังนี้
- ไฟไหม้ แต่ไม่รวมถึงความเสียหายจาก ไฟไหม้จากแรงระเบิด อันเป็นผลมาจากไฟไหม้, ไฟไหม้อันเป็นผลโดยตรง หรือโดยอ้อมจากแผ่นดินไหว, ไฟไหม้ต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันเกิดจากการบูดเน่าหรือการระอุตามธรรมชาติ หรือการลุกไหม้ขึ้นเองเฉพาะที่เกิดจากตัวทรัพย์สินนั้นเองเท่านั้น หรือการที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในระหว่างกรรมวิธีซึ่งใช้ความร้อนหรือการทำให้แห้ง
- ฟ้าผ่า
- แรงระเบิดของแก๊ส ที่ใช้สำหรับทำแสงสว่างหรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น
- ความเสียหายอื่นๆ ตามที่ระบุไว้ชัดเจนในกรมธรรม์ประกันภัย
โดยคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างหลากหลายรูปแบบ (ไม่รวมฐานราก) เช่น บ้านอยู่อาศัย อาคาร ร้านค้า สำนักงาน โรงแรม โรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน โกดัง ฯลฯ รวมถึงทรัพย์สินภายในอาคาร เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องครัว เป็นต้น
แต่ประกันอัคคีภัยมาตรฐานจะไม่ให้ความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินดังต่อไปนี้ (ยกเว้นว่าจะมีระบุไว้ในกรมธรรม์) เช่น สินค้าที่อยู่ในการดูแลรักษาของผู้เอาประกันภัยในฐานะผู้รับฝากทรัพย์, เงินแท่ง เงินรูปพรรณ ทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ อัญมณี, วัตถุระเบิด ไดนาโม หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า แผงควบคุมไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ
ซึ่งได้รับความเสียหายจากการเดินเครื่องเกินกำลัง หรือได้รับกระแสไฟฟ้าเกินกำลัง หรือไฟฟ้าลัดวงจร รวมถึงไฟฟ้าลัดวงจรเนื่องจากฟ้าผ่า เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ประกันอัคคีภัยประเภทนี้มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก จึงไม่ค่อยตอบโจทย์คนมีบ้าน และคนทำธุรกิจสักเท่าไหร่
2. ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย
ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย หรือ ประกันอัคคีภัยบ้าน ให้ความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย (ไม่รวมฐานราก) เช่น บ้าน ทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด ตึกแถวสำหรับอยู่อาศัย อาคารชุด คอนโดมิเนียม ฯลฯ รวมถึงทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้างนั้น
เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง สิ่งติดตั้งตรึงตรา เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องดนตรี เครื่องครัว เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้มีการเพิ่มความคุ้มครองให้มากขึ้นกว่าประกันอัคคีภัยมาตรฐานในหลายๆ ด้าน คือ
- คุ้มครองกรณีไฟไหม้
- ฟ้าผ่า (รวมถึงความเสียหายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกิดจากการลัดวงจรจากฟ้าผ่า)ระเบิด
- ภัยจากการเฉี่ยว และหรือการชนของยานพาหนะ หรือสัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น
- ภัยจากอากาศยาน และหรือวัตถุที่ตกจากอากาศยาน รวมถึงจรวดซึ่งขับเคลื่อนด้วยตัวเองและยานอวกาศ ยกเว้นจรวดที่เป็นอาวุธ
- ภัยเนื่องจากน้ำ อันเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากการปล่อยการรั่วไหล หรือการล้นออกมาของน้ำหรือไอน้ำ จากท่อน้ำถังน้ำ ระบบทำความร้อน ระบบทำความเย็น ระบบปรับอากาศ เครื่องสูบน้ำ รวมถึงน้ำฝนที่ไหลผ่านเข้าไปภายในอาคาร จากการเสียหายของหลังคา หน้าต่าง ประตู วงกบประตูหน้าต่าง ช่องลม ช่องรับแสงสว่าง ท่อน้ำหรือรางน้ำ
อ่านเพิ่มเติม: ประกันอัคคีภัย สำหรับบ้านอยู่อาศัย เลือกยังไงให้คุ้ม?
- ภัยจากลมพายุ
- ภัยจากน้ำท่วม หมายถึง น้ำซึ่งไหลล้นจากทางน้ำปกติ ซึ่งเป็นได้ทางน้ำธรรมชาติ ทางน้ำที่สร้างขึ้น (ยกเว้นรางน้ำบนหลังคา) น้ำที่เกิดจากท่อน้ำสาธารณะแตก รวมถึงน้ำท่วมจากลมพายุ น้ำป่า และโคลนถล่ม
- ภัยจากแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คลื่นใต้น้ำ หรือสึนามิ ที่มีสาเหตุจากธรรมชาติ รวมถึงน้ำท่วมอันมีสาเหตุจากแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิดที่มีสาเหตุจากธรรมชาติ แต่จะไม่คุ้มครองความเสียหายโดยตรงหรือโดยอ้อมที่เกิดจากภัยแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด อันเกิดจากวัตถุจากอวกาศ
- ภัยจากลูกเห็บ น้ำฝน น้ำค้างแข็ง หิมะ ทราย ฝุ่นละออง ที่ไหลผ่านเข้าไปในอาคารตามร่องแตกร้าวของอาคาร รวมถึงสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหายอันเกิดจากลูกเห็บโดยตรง หรือน้ำจากเครื่องพรมน้ำหรือท่อน้ำ ที่เกิดเสียหายขึ้นจากลูกเห็บโดยตรง
3. ประกันอัคคีภัยสำหรับสถานประกอบธุรกิจ
- คุ้มครองกรณีไฟไหม้ แต่ไม่รวมการระเบิดอันเป็นผลมาจากไฟไหม้ ความเสียหายโดยตรงหรือโดยอ้อมจากแผ่นดินไหว ความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่เกิดจากการบูดเน่า การระอุตามธรรมชาติ หรือการลุกไหม้ขึ้นเอง และในระหว่างกรรมวิธีใดๆ ซึ่งใช้ความร้อนหรือการทำให้แห้ง
- ฟ้าผ่า
- การระเบิดของแก๊สที่ใช้สำหรับทำแสงสว่างหรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น ยกเว้นการระเบิดของแก๊สเนื่องจากภัยแผ่นดินไหว
อย่างไรก็ตาม ผู้ทำประกันอัคคีภัยทุกประเภท สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมจากที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ได้ เช่น ความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหว ภัยน้ำท่วม ภัยนัดหยุดงาน ภัยจากการจลาจล ภัยต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
ดังนั้นก่อนที่ใครจะตัดสินใจทำประกันอัคคีภัย ควรพิจารณาดูให้ดีก่อนว่าสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินที่ของตัวเอง ตรงตามเงื่อนไขความคุ้มครองหรือไม่? และกรมธรรม์ที่สนใจ ให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง?
เพื่อให้การจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ไม่ต้องเสี่ยงเจอเหตุการณ์ไฟไหม้ แต่ประกันปฏิเสธความคุ้มครอง แล้วต้องรับผิดชอบความเสียหายทุกอย่างด้วยตัวเอง
ประกันอัคคีภัยราคาเท่าไหร่?
ในเรื่องของราคาค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยนั้น มีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สิน รวมทั้งความต้องการของผู้ทำประกัน ดังนี้
- ประเภทของประกันภัย
- ทุนประกันและเงื่อนไขความคุ้มครองตามที่ผู้ทำประกันต้องการ
- ลักษณะของสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ วัสดุที่ใช้สำหรับโครงสร้าง ผนัง พื้นของอาคาร และสถานที่ตั้ง เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเกิดไฟไหม้ เช่น บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนมีความเสี่ยงเกิดไฟไหม้ได้ง่าย กว่าบ้านปูนทั้งหลัง เบี้ยประกันของบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนจึงแพงกว่าบ้านปูน เป็นต้น
- ลักษณะภัยของสถานที่เอาประกันภัย เช่น สถานที่เอาประกันภัยไม่อยู่ติดกับสิ่งปลูกสร้างที่เสี่ยงทำให้เกิดภัย (ภัยโดดเดี่ยว) มักจะมีค่าเบี้ยถูกลงกว่าสถานที่ที่อยู่ติดกับสิ่งปลูกสร้าง หรือสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ เป็นต้น
- การติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง เพราะเป็นสิ่งที่แสดงว่าผู้ทำประกันอัคคีภัยได้มีการเฝ้าระวังอัคคีภัยเป็นอย่างดี เบี้ยประกันจึงถูกลงได้อีก เนื่องจากสามารถใช้เป็นส่วนลดค่าเบี้ยประกันได้
อ่านเพิ่มเติม: 5 เหตุผลที่คนมีบ้านควรทำประกัน!
ทั้งนี้ ถ้าอยากให้ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยถูกลงอีก ควรทำประกันระยะยาว อย่างน้อย 2 ขึ้นไป เพราะค่าเบี้ยจะลดลงเรื่อยๆ เช่น ทำประกัน 1 ปี ค่าเบี้ย จ่ายค่าเบี้ย 100% แต่ถ้าทำประกัน 2 ปี บริษัทประกันจะคิดค่าเบี้ยประมาณ 175% เป็นต้น
ประกันอัคคีภัยสำคัญอย่างไร?
บ้าน ที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ประกอบธุรกิจรูปแบบต่างๆ ล้วนเป็นมากกว่าสิ่งปลูกสร้างทั่วๆ ไป เพราะใครหลายคนต้องใช้ความทุ่มเท ทั้งแรงกาย แรงใจ และเงินเก็บสะสม เพื่อสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา และนำทรัพย์สินที่มีค่า เก็บไว้ในนั้นด้วย
ดังนั้นถ้าเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ แม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้เกิดความสูญเสียได้มากกว่าที่คิด
ถ้าคุณไม่อยากเป็นหนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายที่เจอกับสถานการณ์แบบนั้น ควรทำความเข้าใจ และเลือกทำ “ประกันอัคคีภัย” ที่ตรงกับความต้องการเอาไว้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต