ไหว้เจ้าที่กลางบ้าน วิธีอยู่บ้านให้เฮงและปังกว่าที่เคย
ไหว้เจ้าที่กลางบ้าน วิธีอยู่บ้านให้เฮงและปังกว่าที่เคย
ความเชื่อในเรื่องโชคลาภหรือที่สมัยนี้เรียกว่ามูเตลู เป็นเรื่องที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน และไม่มีทีท่าว่าจะหายไปง่าย ๆ โดยเฉพาะกับการไหว้เจ้าที่กลางบ้าน ที่สายมูหลายคนยกให้เป็นความสำคัญลำดับแรก ๆ ด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าเคารพเจ้าที่เจ้าทาง จะทำให้ชีวิตอยู่เย็นเป็นสุข อยู่บ้านแบบแคล้วคลาดปลอดภัย รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของความเฮงและความปังในทุกแง่มุมของชีวิต
ปัจจุบันในไทยมีการไหว้เจ้าที่กลางบ้านอยู่หลายศาสตร์ด้วยกัน แต่ที่นิยมมากที่สุดคือศาสตร์ไทยและศาสตร์จีน ซึ่งมีขั้นตอน ความเชื่อ และองค์ประกอบแตกต่างกันไป แต่จะเป็นในทางไหนบางนั้น มาหาคำตอบได้ที่นี่เลย
ไหว้เจ้าที่กลางบ้านแบบไทย
การไหว้เจ้าที่เจ้าทางหรือสิ่งศักดิ์สิทธ์ประจำบ้านแบบไทย จากข้อมูลหลายแหล่งสรุปว่าจะอ้างอิงวิธีไหว้แบบศาสนาพุทธและผสมผสานกับความเชื่อแบบดั้งเดิม คือเชื่อว่าบ้านทุกหลังมีดวงวิญญาณที่อยู่อาศัยบนพื้นที่นั้นมาก่อนแล้ว ถ้าเคารพท่านก็จะทำให้คนในบ้านอยู่กันแบบมีความสุข ออกไปนอกบ้านก็จะปลอดภัย และมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
สำหรับช่วงเวลาที่หลายคนแนะนำเป็นพิเศษ คือ ช่วงกลางวันของวันอังคารหรือวันเสาร์ ในทุก 3 – 6 เดือน เพื่อความเป็นสิริมงคลสูงสุด แต่ถ้าไม่ว่างก็สามารถถือฤกษ์สะดวกของแต่ละบ้านได้เลย โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. ปูผ้าขาวกลางพื้นบ้าน แล้ววางของไหว้ลงไปบนนั้น ได้แก่
- ผลไม้ 9 อย่าง เช่น กล้วย ช่วยให้การทำสิ่งต่าง ๆ ง่ายขึ้นเหมือนปอกกล้วย แก้วมังกร ช่วยให้การปกครองบริวารราบรื่น องุ่นแดง ช่วยเรื่องการเพิ่มพูนเงินทอง ชีวิตรุ่งเรือง หน้าที่การงานเติบโต สับปะรด ตัวแทนความโชคดี ส้ม คือความร่ำรวยเงินทอง เป็นต้น
- หมากพลู 9 คำ
- น้ำเปล่าหรือน้ำชา 5 แก้ว
- เครื่องหอมหรือดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม 1 อย่างขึ้นไป
2. นั่งลงข้างหลังผ้า ในลักษณะหันหน้าเข้าบ้านและหันหลังให้ประตูบ้าน
3. จุดธูป 5 ดอก
4. จุดเทียน 1 คู่ (ถ้ามี)
5. พนมมือพร้อมกล่าวคำไหว้เจ้าที่ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่มีแพทเทิร์นตายตัวนัก แต่โดยรวมแล้วควรมี
- คำเกริ่นนำ เช่น ข้าแต่เจ้าที่เจ้าทาง… ข้อขอสักการะเจ้าที่เจ้าทาง วันนี้เป็นวันดี
- ตามด้วยชื่อ – สกุลผู้กล่าว แบบมีคำนำหน้า เช่น ข้าพเจ้า… ข้าพเจ้า นาย… ข้าพเจ้า นาง… เป็นต้น
- อาศัยอยู่บ้านเลขที่
- รายละเอียดสิ่งของที่นำมาไหว้
- จุดประสงค์ที่ไหว้ เช่น ขอขมา ขอให้ท่านคุ้มครอง เป็นต้น
- ปิดท้ายด้วยคำอธิษฐาน และปักธูปเทียนในกระถางธูป
- เมื่อธูปเทียนดับ ให้ลาของไหว้ เป็นอันเสร็จพิธี โดยของไหว้สามารถนำมากินต่อได้ตามปกติ
ไหว้เจ้าที่กลางบ้านแบบจีน
เจ้าที่กลางบ้านหรือเจ้าที่ประจำบ้านของศาสตร์จีนเรียกว่า “ตี่จู้เอี๊ยะ” ถ้าอธิบายง่าย ๆ ก็คือศาลเจ้าสีแดงที่มักจะเห็นในบ้านของคนไทยเชื้อสายจีนนั่นเอง ซึ่งศาสตร์นี้เชื่อว่าสีแดงเป็นสีแห่งความมงคล ความโชคดี ความเฮง และความปัง โดยบริเวณศาลจะสลักด้วยอักษรจีนมากมาย แปลรวม ๆ ได้ว่าอวยพรให้คนในบ้านร่ำรวยเงินทอง มีโชคลาภ และชีวิตรุ่งเรือง
นอกจากนี้ยังมีสัตว์มงคลเป็นส่วนประกอบในศาลด้วย คือ มังกร ที่เป็นสัญลักษณ์ของความมงคล อำนาจบารมี ความมั่นคง และการมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ หงส์ หมายถึง ความสง่างาม อ่อนหวาน สุภาพ ปลาหลีฮื้อ หมายถึง ความสำเร็จและความอุดมสมบูรณ์ และกิเลน หมายถึง ความเมตตา
ส่วนเรื่องของไหว้ตี่จู้เอี๊ยะ ได้แก่
- น้ำชา 5 ถ้วย
- น้ำเปล่า 3 ถ้วย
- กระดาษไหว้ 1 ชุด
- ธูป 5 หรือ 7 ดอก
- ขนมและผลไม้มงคล (เฉพาะวันพระจีนที่มีเดือนละ 2 ครั้ง)
โดยมีขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
- นำของไหว้ที่เตรียมไว้วางบนภาชนะใดก็ได้ แล้ววางไว้ด้านหน้าตี่จู้เอี๊ยะ
- จุดธูป 5 หรือ 7 ดอกเท่าที่เตรียมมา แล้วไหว้เจ้าที่ พร้อมเชิญมารับของไหว้
- เสร็จแล้วปักธูปลงบนกระถางหน้าตี่จู๋เอี้ย 3 หรือ 5 ดอก และปักบริเวณประตูหน้าบ้านทั้งด้านซ้ายและขวาอย่างละ 1 ดอก
- เมื่อธูปหมดก้าน ในวันธรรมดาให้เอากระดาษไหว้ไปเผาหน้าบ้านได้เลย แต่ถ้าเป็นวันพระจีนให้ลาของไหว้ด้วยนะโม 3 จบ และกล่าวว่า “เสสังมังคลัง ยาจามิ” แล้วถึงค่อยเอากระดาษไหว้ไปเผาหน้าบ้าน
เสริมความอยู่เย็นเป็นสุขให้ทั้งศาสตร์ไทยและจีน
การไหว้เจ้าที่กลางบ้านทั้ง 2 ศาสตร์ เป็นความเชื่อที่ถูกส่งต่อมาหลายชั่วอายุคน แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่มีความหมายต่อจิตใจของผู้อยู่อาศัย ทั้งในแง่ของความมูเพื่อชีวิตดี และเพิ่มความสบายใจว่าจะได้อยู่บ้านอย่างปลอดภัย แต่บางครั้งเท่านี้อาจไม่พอกับบางบ้านที่ต้องการความสบายใจและความเฮงแบบจับต้องได้มากกว่านี้
นั่นเลยเป็นเหตุผลว่า นอกจากไหว้เจ้าที่แล้ว สิ่งดี ๆ ที่ควรมีเสริมไว้อีกขั้นก็คือ ประกันภัยบ้าน ที่เปรียบเสมือนผู้ช่วยในยามเกิดเหตุไม่คาดฝันกับบ้านและคนในบ้าน เพราะจะทำให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินทองมากเกินจำเป็น เงินเก็บไม่หาย เงินที่หาได้ใหม่ก็ยังอยู่ เรียกได้ว่าเฮงและปังแบบสุด ๆ แถมยังเหลือกินเหลือใช้ไปอีกนาน