เรื่องนี้ต้องรู้ “เมาแล้วขับ” ถ้าโดนปรับ ประกันไม่จ่าย!
เรื่องนี้ต้องรู้ “เมาแล้วขับ” ถ้าโดนปรับ ประกันไม่จ่าย!
เมื่อทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจไปแล้ว บางคนอาจชะล่าใจว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุ ยังไงก็มีประกันคอยช่วยเคลียร์ให้ แต่สิ่งที่อาจไม่เคยรู้มาก่อนคือ มีข้อยกเว้นที่ประกันจะไม่จ่ายอยู่ด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้น ได้แก่ เมาแล้วขับ
สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงคมนาคม ปี 2563 - มิ.ย. 2564 ที่เปิดเผยว่า เมาแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนทางหลวง ทางหลวงชนบท และทางด่วน กว่า 966 ครั้ง
ขอบเขตของเมาแล้วขับ
- ขอบเขตของ “เมาแล้วขับ” อ้างอิงตามกฎหมายเมาแล้วขับที่ชื่อว่า กฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 คือ ถ้าตรวจวัดค่าแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ได้เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถือว่าเมาสุราขณะขับขี่ และจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ดังนี้
- เมาแล้วขับ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
- ถ้าการเมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
- ถ้าการเมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาทถึง 120,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
- ถ้าการเมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ส่วนในแง่ของประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เมื่อปี 2560 คปภ. ก็ได้มีคำสั่งให้มีข้อความแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยว่า “การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดให้ถือว่า เมาสุรา”
นั่นแปลว่า ถ้าผู้ขับขี่มีแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็จะถือว่าเมาแล้วขับทั้งในทางกฎหมาย และความรับผิดชอบของประกัน
เมาแล้วขับกับการคุ้มครองของประกันภัยรถยนต์
เมื่อเกิดอุบัติเหตุขณะเมาแล้วขับ ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจจะปฏิเสธการคุ้มครองผู้ขับขี่ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่จะให้ความคุ้มครองเป็นค่าสินไหมทดแทนกับคู่กรณีที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออาจรวมถึงทรัพย์สิน โดยไม่เกินวงเงินประกัน (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกรมธรรม์)
ซึ่งเท่ากับคนเมาแล้วขับต้องรับผิดชอบความสูญเสียของตัวเอง และรับผิดชอบคู่กรณีที่อยู่นอกเหนือจากวงเงินประกันด้วย ถึงแม้จะจ่ายเงินทำประกันทุกปีก็ตาม
มีกรณีใดอีกบ้างที่ประกันไม่คุ้มครอง
นอกจากเมาแล้วขับ ประกันรถยนต์ยังไม่คุ้มครองกรณีเหล่านี้ด้วย
- ภาวะสงคราม ซึ่งรวมถึงสงครามการเมือง
- วัตถุปรมาณูจากโรงงานนิวเคลียร์
- ใช้รถนอกอาณาเขตคุ้มครอง เช่น ทำประกันรถยนต์ในไทย แต่ขับรถข้ามไปประเทศเพื่อนบ้าน แล้วเจออุบัติเหตุ ประกันจะไม่คุ้มครอง
- กระทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย เช่น ใช้รถขนส่งยาเสพติด นำรถไปแข่งขันบนถนนสาธารณะ นำรถยนต์ส่วนบุคคลไปใช้เป็นรถรับจ้างไม่ประจำทาง ไม่มีใบขับขี่ เป็นต้น
- มีการดัดแปลงตัวรถ แล้วไม่แจ้งกับประกัน เช่น นำรถไปติดแก๊ส ดัดแปลงเครื่องเพื่อเพิ่มความเร็ว เป็นต้น
- รถที่เกิดความเสียหายจากการลากจูง (ยกเว้นซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติม)
แล้วกรณีใดบ้างที่ประกันจะคุ้มครอง
แม้ว่าข้อยกเว้นที่ประกันไม่คุ้มครองจะดูเหมือนว่ามีมากมาย แต่จริงๆ แล้ว กรณีที่ประกันจะคุ้มครองนั้นมีมากกว่า เพราะครอบคลุมตั้งแต่อุบัติเหตุบนท้องถนนเกือบทุกรูปแบบ ไฟไหม้ และรถสูญหาย โดยจะมีการรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ประเภทของประกันภัยรถยนต์ เงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกัน และความคุ้มครองที่ซื้อเพิ่มเติม โดยประกันชั้น 1 จะครอบคลุมความคุ้มครองมากที่สุด และลดหลั่นลงไปตามลำดับ
สรุปได้ว่า เมาแล้วขับ คือพฤติกรรมที่จะทำให้ผู้ขับขี่สูญเสียทั้งด้านร่างกาย เวลา รวมถึงเงินในกระเป๋า เพราะถ้าไม่ทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ ผู้ขับขี่ต้องรับผิดชอบทั้งตัวเองและคู่กรณีทั้งหมด หรือถึงแม้จะมีประกัน ก็จะให้ความคุ้มครองแค่คู่กรณี และมีขอบเขตความคุ้มครองที่จำกัด