ระวังไว้! ไฟดูด ไฟรั่ว ช่วงหน้าฝน
ระวังไว้! ไฟดูด ไฟรั่ว ช่วงหน้าฝน
เมื่อเข้าสู่หน้าฝนที่ไร เรามักจะเห็นข่าวว่าสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ออกมาเตือนให้ใช้ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง และระวังไฟดูด อยู่เป็นประจำ นั่นก็เพราะว่า หากเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสายไฟชำรุดในช่วงนี้ จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น
เพราะน้ำฝนที่ปนเปื้อนสารเคมีหรือก๊าซบางชนิด และความชื้น สามารถเป็นตัวนำไฟฟ้าได้ เมื่อคนเราตัวเปียกฝนหรือมีความชื้นมากกว่าปกติ แล้วเผลอไปสัมผัสกับกระแสไฟฟ้าที่รั่วไหลออกมา ก็จะทำให้โดนไฟดูดได้ง่ายขึ้นกว่าในสภาวะที่อากาศปกติ
ไฟดูดอันตรายแค่ไหน และจะสามารถป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร SMILE INSUR ชวนมาหาคำตอบพร้อมกันกับบทความนี้
ไฟดูดคืออะไร?
ไฟดูด คือสถานการณ์ที่ร่างกายไปสัมผัสกับกระแสไฟฟ้าโดยตรง แล้วทำให้กระแสไฟไหลผ่านร่างกายลงสู่พื้นดิน ซึ่งมีความชื้นเป็นตัวนำกระแสไฟ และเมื่อไฟไหลผ่านร่างกายจะส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติขึ้นได้ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บแปลบ ผิวบวมแดง กล้ามเนื้อเกร็ง รู้สึกชาตามตัว หายใจผิดปกติ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
เพราะไฟบ้านในประเทศไทยเป็นไฟฟ้าชนิดแรงต่ำ (Low voltage) ที่ 220 โวลต์ เท่านั้น ส่วนใครที่โดนไฟแรงสูง (High voltage) ดูด คือ สูงกว่า 1,000 โวลต์ ก็จะหัวใจล้มเหลว อวัยวะภายในถูกทำลาย หรืออาจถึงขั้นพิการ และเสียชีวิตได้
ไฟรั่วคือสาเหตุสำคัญของไฟดูด
ปกติกระแสไฟฟ้าจะวิ่งอยู่ในสายไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ และมีฉนวนป้องกันกระแสไฟไม่ให้ไหลออกจากวงจรอยู่ เมื่อคนเราไปสัมผัสกับสิ่งของเหล่านั้นก็จะไม่เกิดปฏิกริยาใด แต่เมื่อไหร่ที่ระบบไฟฟ้าขัดข้อง ก็จะทำให้มีกระแสไฟส่วนหนึ่งเล็ดลอดออกมาสู่ภายนอก หรือที่เราเรียกว่า “ไฟรั่ว” นั่นเอง
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ไฟรั่ว คือ วงจรไฟฟ้าไม่สมบูรณ์ ทำให้กระแสไฟไม่สามารถวิ่งตรงได้เช่นเดิม เพราะถูกเปลี่ยนทิศทางระหว่างทาง หรือไปสัมผัสกับสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ เช่น ฉนวนหุ้มสายไฟมีรอยฉีกขาด ทำให้จากเดิมที่กระแสไฟฟ้าต้องวิ่งเป็นเส้นตรงจากเต้ารับไฟเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ถูกเปลี่ยนทิศทางเป็นวิ่งออกนอกสายไฟ หรือรั่วไหลไปถึงตัวคนแทน เป็นต้น
จริงหรือไม่ที่หน้าฝนคนจะโดนไฟดูดมากขึ้น
กับข้อสงสัยที่ว่าจริงหรือไม่ที่หน้าฝนคนจะโดนไฟดูดมากขึ้น คำตอบคือ “จริง” แต่ไม่ใช่เพราะว่าน้ำฝนเป็นตัวนำไฟฟ้า แต่สิ่งที่ปนเปื้อนมากับน้ำฝน และความร้อนชื้นต่างหาก ที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงให้คนโดนไฟดูดได้ง่าย เพราะถ้าอ้างอิงตามหลักวิทยาศาสตร์ น้ำบริสุทธิ์แทบจะไม่มีคุณสมบัตินำไฟเลย
สิ่งที่ควรทำเมื่อไฟดูด
ไม่ว่าคุณจะโดนไฟดูดเบา ๆ หรือเห็นคนกำลังโดนไฟดูดอยู่ สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือ ตัดกระแสไฟฟ้าให้เร็วที่สุดด้วยการถอดปลั๊ก ปิดสวิตช์ และสับคัทเอาท์ลง
ตามมาด้วยการปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บได้แก่ เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากบริเวณที่ถูกไฟดูด ห่อหุ้มบริเวณที่ถูกไฟดูดด้วยผ้าแห้ง ตรวจดูว่าหัวใจยังเต้นอยู่หรือไม่ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ใช้ไฟฟ้าหน้าฝนอย่างไรให้ปลอดภัย
การจะใช้ไฟฟ้าในหน้าฝนได้อย่างสบายใจ ปลอดภัย หายห่วง สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
ติดตั้งสายดิน เพื่อให้กระแสไฟฟ้าที่รั่วหรือเกินออกมา ไหลลงดินไปทั้งหมด
ตรวจเช็กสายไฟ เต้ารับ และการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นประจำ ถ้าเสียให้รีบซ่อมหรือสั่งซื้อชิ้นใหม่
กำจัดแหล่งก่อความชื้นที่อยู่ใกล้สายไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า
แม้ว่าน้ำจะไม่ใช่ตัวนำไฟฟ้า แต่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามันมีการปนเปื้อนสารที่นำไฟฟ้าได้หรือไม่ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการจับสายไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียก
ทำประกันบ้านเอาไว้ เพราะไฟรั่ว-ไฟเกินจะทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร และเกิดไฟไหม้ได้ ซึ่งจะอยู่ในขอบเขตความคุ้มครองของประกัน
ข้อควรระวัง
อย่าเข้าไปช่วยคนโดนไฟดูด จนกว่าจะแน่ใจว่าเขาไม่ได้สัมผัสกับสายไฟฟ้า หรือตัวนำไฟฟ้าใด ๆ เพราะถ้าคุณไม่ทราบปริมาณกระแสไฟฟ้าที่รั่วหรือเกินออกมา หรือไม่เคยมีประสบการณ์ช่วยเหลือใครมาก่อน ก็ไม่ควรช่วยผู้ประสบเหตุด้วยตนเอง แต่ให้รีบติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้ชำนาญการแทน หรือโทรสายด่วน สพฉ. 1669 เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
เหตุการณ์ไฟดูดที่เกิดจากไฟรั่ว-ไฟเกิน อันตรายกว่าที่คิด และมีโอกาสเกิดมากขึ้นในช่วงหน้าฝน ที่มีทั้งน้ำปนเปื้อนและความชื้น ซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้าชั้นดี
แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการหมั่นสังเกตความผิดปกติของสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน รวมถึงเพิ่มความอุ่นใจในทุกครั้งที่อยู่บ้านด้วยประกันบ้าน ตัวช่วยดีๆ ที่หลายคนมักจะมองข้าม เลือกซื้อประกันที่ใช่สำหรับคุณ คลิก