ซื้อประกันสุขภาพแบบไหน ถึงจะได้สิทธิลดหย่อนภาษี
ซื้อประกันสุขภาพแบบไหน ถึงจะได้สิทธิลดหย่อนภาษี
คุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องเสียภาษีเป็นเงินจำนวนมากอยู่หรือเปล่า? และคุณกำลังรู้สึกเสียดายเงินนั้นอยู่ใช่ไหม? ถ้าใช่ เราอยากชวนมาเรียนรู้เทคนิคง่ายๆ ที่จะช่วยคุณลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น ผ่านบทความนี้
1 มกราคม - 31 มีนาคม ของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่คนไทยผู้มีรายได้ทุกคน ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันแล้ว ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ที่มีรายได้สุทธิตั้งแต่ 150,001 บาท/ปี ขึ้นไป จะต้องเสียภาษีร้อยละ 5 ต่อปี และมูลค่าภาษีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได ตามจำนวนรายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น เท่ากับว่ายิ่งรายได้มาก ก็จะยิ่งเสียภาษีมากขึ้นด้วย
สำหรับใครหลายคน การเสียเงินค่าภาษีหลักพันบาทขึ้นไป เป็นเรื่องที่น่าลำบากใจ และน่าเสียดาย ไม่ต่างจากการจ่ายเงินทิ้งเปล่าสักเท่าไหร่ เพราะเงินนั้นจะถูกนำไปใช้พัฒนาประเทศในภาพรวม อาจไม่ได้สร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อคนที่เสียภาษีแบบทันทีทันใด
ดังนั้น เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถจ่ายภาษีได้ถูกลง SMILE INSURE ชวนมาทำความรู้จักการ “ซื้อประกันลดภาษี” เทคนิคดีๆ ที่จะช่วยให้จ่ายภาษีได้อย่างสบายใจ แถมยังช่วยเพิ่มความคุ้มครองให้ชีวิตได้อีกด้วย
ประเภทของประกันที่ลดหย่อนภาษีได้
ประกันที่ลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ ประกันชีวิต ประกันชีวิตแบบบำนาญ และประกันสุขภาพ เพราะภาครัฐต้องการกระตุ้นให้คนไทยเห็นความสำคัญของชีวิต ไม่ละเลยสุขภาพ และไม่ใช้ชีวิตประมาท เพราะการเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิตของคนๆ หนึ่งเพียงครั้งเดียว สามารถส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ และสังคมได้มากกว่าที่คิด
ส่วนประกันที่ใช้ลดหย่อนภาษีไม่ได้ทุกกรณี คือ ประกันรถยนต์ เพราะภาครัฐกำหนดขอบเขตให้รถยนต์เป็นสิ่งของฟุ่มเฟือย ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต
ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่?
ผู้ที่ซื้อประกันชีวิตสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนเบี้ยประกันที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท และจะได้รับยกเว้นเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท โดยมีเงื่อนไขอยู่ว่า กรมธรรม์เล่มนั้นต้องมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป และต้องเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อกับบริษัทประกันภัยที่ประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น
ขณะที่ผู้ซื้อประกัน ต้องมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่ามีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตไปแล้วจริงๆ เพื่อป้องกันการแอบอ้าง หรือทำผิดเงื่อนไขของกรมสรรพากร ซึ่งจะเสี่ยงต่อการโดนปรับภาษีย้อนหลัง ที่อาจมาพร้อมดอกเบี้ย
ประกันชีวิตแบบบำนาญลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่?
ผู้ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ จะยกเว้นภาษีเงินได้ ได้เท่าที่จ่ายเบี้ยประกันไปแล้ว ในอัตราร้อยละ 15 ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปี (รายได้พึงประเมิน) แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
แต่ถ้ารวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน
ทั้งนี้ ประกันชีวิตแบบบำนาญต้องมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องซื้อกับบริษัทประกันภัยที่ประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น รวมถึงต้องมีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์ตั้งแต่ 55-85 ปี (หรือมากกว่า) และผู้ซื้อประกันต้องมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าได้จ่ายเบี้ยประกันอย่างครบถ้วนตามเงื่อนไขแล้ว
ข้อควรรู้ ประกันชีวิต และประกันชีวิตแบบบำนาญที่ซื้อให้พ่อแม่ หรือลูก ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ เพราะกฎหมายมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 กำหนดให้ผู้ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิต และประกันชีวิตแบบบำนาญ จะต้องเป็นผู้ที่จ่ายเบี้ยประกันด้วยตนเอง
ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่?
ในส่วนของมูลค่าการลดหย่อนภาษีจากประกันสุขภาพ ผู้ซื้อประกันสามารถใช้สิทธิได้สูงสุดถึง 100,000 บาท/ปี โดยแบ่งได้เป็น 3 กรณี ดังนี้
1. ประกันสุขภาพตนเอง
ผู้ที่ซื้อประกันสุขภาพให้ตนเอง สามารถนำมูลค่าเบี้ยประกันมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท/ปี แต่ถ้าซื้อประกันสุขภาพควบคู่กับประกันชีวิตที่มีกำหนดตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เมื่อคิดมูลค่ารวมแล้ว จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท (ข้อกำหนดสำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป)
2. ประกันสุขภาพพ่อแม่
สำหรับใครที่ต้องแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งไปซื้อประกันสุขภาพให้กับพ่อแม่ ก็ไม่ต้องกังวลใจ เพราะข่าวดีคือ สามารถนำค่าใช้จ่ายตรงนั้นมาลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า พ่อแม่จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี เท่านั้น
โดยลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกินคนละ 15,000 บาท หรืออธิบายง่ายๆ ได้ว่า ประกันของพ่อลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท และประกันของแม่ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท
ส่วนกรณีที่พ่อแม่มีลูกหลายคน ลูกทุกคนจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ แต่ต้องคำนวณแบบหารเฉลี่ย เช่น เบี้ยประกันสุขภาพของพ่อ 10,000 บาท และในครอบครัวมีลูก 2 คน นั่นหมายความว่า พี่น้องแต่ละคนจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้คนละ 5,000 บาท เป็นต้น
3. ประกันสุขภาพคู่สมรส
ประกันสุขภาพที่ซื้อให้คู่สมรสนั้น จะนำมาลดหย่อนภาษีได้ก็ต่อเมื่อ คู่สมรสไม่มีรายได้เท่านั้น โดยลดหย่อนได้ตามจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท/ปี
จากข้อมูลเหล่านี้ ทำให้เห็นว่า ถึงแม้ประกันที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้จะมีอยู่หลายประเภท แต่ “ประกันสุขภาพ” เป็นแบบแผนที่คนส่วนใหญ่นิยมซื้อ เพราะมีสิทธิลดหย่อนที่มากกว่า
นอกจากนั้นยังสามารถซื้อแบบปีต่อปีได้ และไม่ต้องส่งเบี้ยระยะยาวเหมือนประกันชีวิต เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบการยึดติด และต้องการใช้ชีวิตที่ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการใช้ประกันสุขภาพเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างคุ้มค่าที่สุด มีสิ่งที่ควรรู้เพิ่มเติม ดังนี้
เงื่อนไขใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพ
การซื้อประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียว จะไม่ได้ช่วยลดหย่อนภาษีโดยอัตโนมัติ ผู้ซื้อประกันควรรู้ว่า ถ้าต้องการใช้สิทธิ จะต้องทำเรื่องแจ้งความประสงค์ขอยกเว้นภาษีจากเบี้ยประกันภัย ไปยังบริษัทประกันที่ดูแลกรมธรรม์อยู่ก่อน เพื่อให้บริษัทประกันนำส่งข้อมูลของคุณไปยังกรมสรรพากร
รวมทั้งคุณเองก็ควรเตรียมหนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันสุขภาพไว้ให้เรียบร้อย เพื่อใช้ประกอบการยื่นภาษีประจำปี และเผื่อต้องส่งเอกสารเพิ่มเติม เมื่อกรมสรรพากรร้องขอ ซึ่งเอกสารที่ดีควรมีข้อมูลสำคัญครบถ้วน ดังนี้
ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย
ชื่อ และนามสกุลของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัยทุกคน (สำหรับกรณีซื้อประกันสุขภาพให้พ่อแม่)
ชื่อ ที่อยู่ที่ติดต่อได้ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทประกัน
ข้อความระบุจำนวนเบี้ยประกันสุขภาพ และจำนวนเงินที่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
ประกันสุขภาพที่นำมาลดหย่อนภาษีได้มีเงื่อนไขอะไรบ้าง?
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ควรรู้คือ ไม่ใช่ประกันสุขภาพทุกฉบับจะนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ เพราะต้องเป็นประกันที่เข้าเกณฑ์เหล่านี้
ประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การชดเชยทุพพลภาพ และการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ
ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
ประกันภัยโรคที่ร้ายแรง (Critical Illnesses)
ประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
ดังนั้น หากเป็นประกันสุขภาพที่มีเงื่อนไขความคุ้มครองนอกเหนือจากนี้ จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ ทางที่ดีผู้ที่จะซื้อประกันควรศึกษารายละเอียด หรือสอบถามข้อมูลจากบริษัทประกันโดยตรง หรือโบรกเกอร์ ให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจจ่ายเงินซื้อ เพื่อทำให้กรมธรรม์ประกันสุขภาพนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในแง่ของความคุ้มครองด้านสุขภาพ และสิทธิพิเศษทางภาษี
มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าทุกคนคงจะเข้าใจแล้วว่าควรซื้อประกันสุขภาพแบบไหน ถึงจะลดหย่อนภาษีได้มากที่สุด รวมทั้งสามารถวางแผนซื้อประกันในปีภาษีถัดไปได้อย่างรอบคอบ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและคนรอบข้าง โดยไม่ปล่อยให้เงินภาษีถูกหักไปเฉยๆ