ไขข้อข้องใจ “รหัสรถยนต์บนกรมธรรม์” บอกอะไรกันแน่?
การเป็นเจ้าของรถยนต์สักคัน นอกจากจะต้องทำพ.ร.บ. ที่เป็นประกันภัยภาคบังคับตามกฎหมายแล้ว คนส่วนใหญ่ยังนิยมซื้อประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจเพิ่มเติมด้วย เพื่อเพิ่มความคุ้มครองแบบรอบด้าน
และสร้างความคุ้มค่าหากต้องเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งปัจจุบันมีหลายบริษัท หลายแบบแผนให้เลือกใช้ ผู้ขับขี่สามารถเลือกได้ตามความต้องการ
ข้อมูลบนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์?
เมื่อเจอประกันที่ถูกใจและตกลงทำธุรกรรมเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้รับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่แสดงข้อมูลเกี่ยวข้องกับรถคันนั้นอย่างละเอียด อาทิ เลขที่กรมธรรม์ ข้อมูลผู้เอาประกันภัย ผู้รับผลประโยชน์ ระยะเวลาประกัน
หมายเลขทะเบียน หมายเลขตัวรถ หมายเลขเครื่อง ปีรุ่นรถ รายละเอียดความรับผิดชอบ ยอดรวมเบี้ยประกัน ข้อมูลติดต่อบริษัทประกัน มาไว้ในมือ เพื่อเป็นหลักฐานในการเคลมสินไหมทดแทนและประกอบการต่อพ.ร.บ. ประจำปี
อ่านเพิ่มเติม: อุปกรณ์เสริมรถแบบไหน? ที่ประกันไม่คุ้มครอง!
ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ล้วนเป็นเรื่องที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าคืออะไร แต่เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้แน่ชัดว่าหมายถึงอะไร และมีผลอย่างไรต่อกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์บ้าง โดยเฉพาะกับคนเพิ่งมีรถคันแรก นั่นก็คือ “รหัสรถยนต์”
ไขข้องใจกับรหัสรถบนกรมธรรม์
รหัสรถยนต์บนกรมธรรม์ คือ เลข 3 ตัวที่แสดงอยู่ใกล้กับหมายเลขทะเบียนรถ ทำหน้าที่ระบุข้อควรรู้เกี่ยวกับรถยนต์คันนั้น ๆ
ตัวเลขหลักแรก บอกถึงประเภทรถยนต์ ได้แก่
1 : รถยนต์นั่ง (ไม่เกิน 7 ที่นั่ง รวมถึงรถกระบะ 4 ประตูด้วย)
2 : รถยนต์โดยสาร (รถตู้ รถบัส)
3 : รถยนต์บรรทุก (รถกระบะ รถบรรทุก)
4 : รถยนต์ลากจูง
5 : รถพ่วง
6 : รถจักรยานยนต์
7 : รถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะ
8 : รถยนต์เบ็ดเตล็ด เช่น รถยนต์ป้ายแดง รถพยาบาล รถดับเพลิง รถเพื่อการเกษตร และอื่นๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง 7 ข้อ
ตัวเลขหลักที่สองและสาม บอกลักษณะการใช้รถยนต์ ได้แก่
10 : ชนิดรถยนต์ส่วนบุคคล
20 : ชนิดรถยนต์ใช้เพื่อการพาณิชย์
30 : ชนิดรถยนต์ใช้รับจ้างสาธารณะ
40 : ชนิดรถยนต์ใช้เพื่อการพาณิชย์พิเศษ เช่น รถบรรทุกกรด แก๊ส น้ำมัน เป็นต้น
สำหรับรถยนต์เบ็ดเตล็ด ตัวเลขที่สองและสามกำหนดไว้ดังนี้
01 : รถยนต์ป้ายแดง
02 : รถพยาบาล
03 : รถดับเพลิง
04 : รถใช้ในการเกษตร
05 : รถใช้ในการก่อสร้าง
06 : รถอื่นๆ
ตัวอย่าง
- รถเก๋งส่วนบุคคล ป้ายทะเบียนสีขาว ตัวอักษรสีดำ รหัสรถยนต์คือ 110
- รถเก๋งที่จดทะเบียนใช้เพื่อการพาณิชย์ เช่น รถเช่า ป้ายทะเบียนสีขาว ตัวอักษรสีเขียว รหัสรถยนต์คือ 120
- รถเก๋งที่นำมาทำเป็นรถรับจ้างสาธารณะอย่างแท็กซี่ ป้ายทะเบียนสีเหลือง ตัวอักษรสีดำ รหัสรถยนต์คือ 730
อ่านเพิ่มเติม: เปรียบเทียบประกันรถยนต์แต่ละชั้น คุ้มต่างกันยังไง?
รหัสรถยนต์และการเคลม
เวลารถเกิดอุบัติเหตุและต้องการเคลมสินไหมทดแทน เอกสารสำคัญที่ควรมีคือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่แสดงรหัสรถยนต์ตรงกับการใช้งานจริง หากพบว่ามีการใช้รถผิดประเภท ไม่ตรงกับรหัสบนกรมธรรม์
บริษัทประกันอาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ซึ่งเท่ากับว่าผู้ขับขี่จะไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ จากกรมธรรม์ที่จ่ายเงินซื้อไว้เลย และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเองด้วย ทั้งค่าซ่อมรถและอาจจะมีค่าปรับด้วย
เพราะการใช้รถผิดประเภทเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 จำเป็นต้องมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ดังนั้นเมื่อได้กรมธรรม์มาแล้ว ผู้เอาประกันควรตรวจสอบความถูกต้องของรหัสรถยนต์ให้เรียบร้อยเสียก่อนว่าตรงกับความเป็นจริงของตัวเองหรือไม่ หากข้อมูลผิดพลาดก็ควรรีบติดต่อตัวแทนประกันภัย นายหน้า
อ่านเพิ่มเติม: เปรียบเทียบประกันรถยนต์แต่ละชั้น คุ้มต่างกันยังไง?
หรือบริษัทประกันให้แก้ไขทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และจะได้ใช้ประกันภัยตอนไหน รีบแก้ไขไว้ก่อนจะดีที่สุด
แต่หากทำทุกวิธีทางแล้ว รหัสรถยนต์ยังไม่ได้รับการแก้ไข และส่งผลต่อการเคลมสินไหมในสถานการณ์จริง ผู้ขับขี่อย่าลืมที่จะรักษาสิทธิ์ของตัวเอง ด้วยการขอคำปรึกษาหรือร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น.
อีเมล nfo@oic.or.th หรือโทรสายด่วน 1186
“รหัสรถยนต์” เลขสั้น ๆ เพียง 3 ตัวบนเอกสารกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ มีความหมายมากกว่าที่หลายคนเคยคาดคิดเอาไว้ การทำความเข้าใจกับมันอย่างลึกซึ้ง
จะช่วยให้ผู้ขับขี่ใช้ประโยชน์จากประกันภัยภาคสมัครใจได้เต็มที่และรู้วิธีรักษาสิทธิของตัวเอง ในฐานะผู้เอาประกันที่จ่ายเบี้ยประกันให้บริษัทอย่างถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย