บทความ | สาระประกันภัย

“e-Policy” คืออะไร? สำคัญแค่ไหน? หาคำตอบได้ที่นี่

“e-Policy” คืออะไร? สำคัญแค่ไหน? หาคำตอบได้ที่นี่
16/11/2021  สาระประกันภัย

“e-Policy” คืออะไร? สำคัญแค่ไหน? หาคำตอบได้ที่นี่

ในยุค 4.0 ที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนเรามากขึ้น ได้ทำให้หลายอย่างในประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่โลกออกไลน์กันยกใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่วงการกรมธรรม์ประกันภัยที่เดินหน้าพัฒนา “e-Policy” ออกมาให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายที่เหนือกว่าในอดีต

แม้วันนี้ e-Policy จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เชื่อว่ายังมีคนอีกมากที่อาจจะยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ดียังไง และใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เราเลยรวบรวมข้อควรรู้เกี่ยวกับ e-Policy มาฝากกัน จะมีอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลย

e-Policy คำนี้คืออะไร?

e-Policy หมายถึง กรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์ที่จัดส่งถึงมือลูกค้าหรือผู้เอาประกันภัยในรูปแบบไฟล์เอกสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทดแทนการจัดส่งเล่มกรมธรรม์แบบกระดาษ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือกรมธรรม์แบบไฟล์ PDF ที่ส่งมาทางอีเมลนั่นเอง ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2560 ด้วยการผลักดันจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) 

โดยมีกฎหมายรับรองไว้ชัดเจน เช่น การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางการเสนอขายใหม่ ไม่พึ่งพาตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัย โดยผู้เอาประกันภัยสามารถแสดงเจตนาขอทำประกันภัยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์และทำความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้เอง 

ในส่วนของการชำระเบี้ยประกันภัย ต้องเข้าบัญชีบริษัทประกันภัยเท่านั้น และบริษัทต้องขอคำยืนยันการทำประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยภายใน 7 วัน หลังจากออกกรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งบริษัทต้องให้สิทธิขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย ภายใน 15 วัน (ยกเว้น กรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ รวมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และกรมธรรม์ประกันภัยเดินทาง) ส่วนการแจ้งเคลมและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สามารถทำได้ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ทำไมต้องใช้ e-Policy?

จริง ๆ แล้วช่วงแรกที่บริษัทประกันเริ่มให้บริการกรมธรรม์ประกันภัยแบบ e-Policy นั้น ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไหร่ เพราะลูกค้ามีความกังวลใจในความน่าเชื่อถือของเอกสาร กลัวจะไม่ใช่ฉบับจริงบ้าง หรือกลัวใช้เคลมไม่ได้บ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งบริษัทประกันภัย คปภ. และองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ทำให้เห็นแล้วว่า 

“สามารถใช้ e-Policy หรือ กรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์แทนกรรมธรรม์ฉบับกระดาษได้เลย และได้รับสิทธิ์ทุกประการเหมือนกัน จะเคลมสินไหมหรือแม้แต่ใช้เป็นหลักฐานต่อทะเบียนรถก็ทำได้ไม่ยาก”

ในการเคลมสินไหมทดแทน บางครั้งอาจต้องปริ้นท์เอกสารออกมา แต่บางครั้งแค่เพียงแจ้งชื่อ-นามสกุลของผู้เอาประกันภัยก็เพียงพอ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท ส่วนการต่อทะเบียนรถทำได้โดยปริ้นท์ e-Policy ลงบนกระดาษ A4 แล้วนำไปยื่นที่สำนักงานขนส่งทางบกประกอบกับเอกสารอื่น ๆ หรือใช้ไฟล์เอกสารยื่นได้เลยผ่านแอปพลิเคชัน DLT ของกรมขนส่งทางบก 

ความสะดวกสบายที่เหนือกว่า

  • นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับไม่ต่างจากกรมธรรม์กระดาษแล้ว e-Policy ยังมีข้อดีอีกมากมาย เช่น
  • สะดวก รวดเร็ว สามารถทำธุรกรรมประกันภัยตั้งแต่เลือกซื้อ จ่ายเงิน จนถึงการรับกรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์และเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ในเวลาอันสั้น 
  • เพิ่มความเป็นส่วนตัวในด้านการจัดเก็บข้อมูลให้อยู่แค่ในไฟล์เอกสารที่มีเพียงผู้เอาประกันภัยเท่านั้นที่รู้
  • ประหยัดเวลา ไม่ต้องพูดคุยกับตัวแทนประกันให้ยืดยาว ลูกค้าศึกษาข้อมูลเองได้ และไม่ต้องรอกรมธรรม์กระดาษนานหลายวันเหมือนในอดีต
  • หมดปัญหากรมธรรม์สูญหาย ปริ้นท์ใหม่ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
  • ลดพื้นที่จัดเก็บเอกสาร เพราะไฟล์อยู่ในคลังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความปลอดภัยสูง
  • เรียกดูไฟล์กรมธรรม์ได้ตลอดเวลา
  • ก้าวสู่สังคมไร้กระดาษ (Paperless) เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0
  • รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการใช้กระดาษโดยไม่จำเป็น 

Tips: เช็คก่อน ชัวร์กว่า

สำหรับใครที่อยากเช็ค e-Policy ที่มีอยู่เพื่อความชัวร์ สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงใช้โปรแกรม Adobe Acrobat เปิดไฟล์ PDF นั้น แล้วจะเห็นคำว่า Signature Panel ที่มุมบนขวา และจะเห็นข้อมูลผู้ออกและตรวจรับรองเอกสารด้านมุมบนซ้าย ซึ่งของแท้ต้องมี Digital Signature หรือลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์จากบริษัทประกันภัยที่ต้องมีตามกฎหมาย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้เอกสาร และสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า

e-Policy ถือเป็นทางเลือกใหม่ของการทำกรมธรรม์ประกันภัยในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ที่น่าใช้งานและไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะได้พัฒนาให้ก้าวข้ามข้อจำกัดที่กรมธรรม์กระดาษทำไม่ได้ไปแล้ว การมีอยู่ของสิ่งนี้จึงจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้ชีวิตของคนเราได้มากยิ่งขึ้น 


ขอบคุณข้อมูลจาก:

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ