5 สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อขับรถเกียร์ออโต้
5 สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อขับรถเกียร์ออโต้
ผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่ จะเลือกใช้ระบบเกียร์อัตโนมัติหรือที่เรียกติดปากกันว่าเกียร์ออโต้ เพราะมีความสะดวกและง่ายต่อการใช้งานมากกว่าเกียร์ธรรมดา แต่ก็มีหลายคนที่ยังใช้เกียร์ออโต้แบบผิดวิธีอยู่ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชุดเกียร์ออโต้พังง่าย 5 สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อขับรถเกียร์ออโต้ คืออะไร? มาดูกัน..
1. ไม่ควรเหยียบคันเร่งลึกบ่อย เพื่อเร่งรอบ
การเหยียบคันเร่งให้ลึกกว่าปกติ หรือ การคิกดาวน์ เพื่อลดตำแหน่งเกียร์ลงมา 1-2 ระดับ ซึ่งจะช่วยเรียกกำลังให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับการเร่งแซงยามคับขันหรือเวลาที่ต้องการเพิ่มความเร็วอย่างทันท่วงที
แต่การคิกดาวน์บ่อยๆ มีผลทำให้ชิ้นส่วนภายในห้องเกียร์มีการเสียดสีอย่างรุนแรง อันเป็นผลจากแรงบิดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงควรคิกดาวน์เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ควรกดพร่ำเพรื่อ ซึ่งมีผลทำให้เปลืองน้ำมันด้วยเช่นกัน ทำแบบนี้บ่อยๆ ก็จะทำให้แรงบิดที่เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วนี้ ไปทำความเสียหายกับชุดเกียร์มากกว่าปกติ ส่งผลทำให้ชุดเกียร์พังไวขึ้น
2. ไม่ควรสลับไปเกียร์ N เมื่อรถกำลังเคลื่อนที่
การทำงานของเกียร์อัตโนมัติแตกต่างจากเกียร์ธรรมดา เนื่องจากชุดเกียร์จะถูกหมุนอย่างต่อเนื่องในขณะรถเคลื่อนที่ แม้อยู่ในตำแหน่งเกียร์ N ก็ตาม ต่างจากเกียร์ธรรมดาที่มีชุดคลัทช์ช่วยตัดกำลัง
ดังนั้น หากปล่อยให้รถไหลจนหยุดนิ่งด้วยเกียร์ N บ่อยๆ จะส่งผลให้ระบบเกียร์หยุดฉีดจ่ายน้ำมัน ทำให้เกิดการเสียดสีมากกว่าปกติ เกิดความร้อนสะสม จนกระทั่งบั่นทอนอายุการใช้งานเกียร์ลงได้
บางครั้งอาจปล่อยไหลลงสะพาน หรือก่อนจะถึงไฟแดง จะทำให้ชุดเกียร์ที่หมุนขบกันไปมาตลอดเวลา ขาดน้ำมันเกียร์ เนื่องจากการเข้าเกียร์ N จะทำให้ชุดเกียร์ไม่สามารถใช้น้ำมันเกียร์เข้ามาหล่อลื่นได้ ทำให้เกิดความร้อนสูงมากกว่าปกติ และก่อให้เกิดความเสียหายในชุดเกียร์
3. ควรจอดรถให้สนิทก่อนเปลี่ยนเกียร์
การเปลี่ยนเกียร์ออโต้ระหว่างตำแหน่ง P-R-N-D ควรกระทำเมื่อรถหยุดนิ่งเท่านั้น ซึ่งพฤติกรรมที่พบได้บ่อย คือ การสลับจากตำแหน่งเกียร์ D ไปยังเกียร์ R เพื่อถอยหลังเข้าที่จอดรถ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุดเกียร์และเพลาขับ ทำให้อายุการใช้งานเกียร์สั้นลงด้วยเช่นกัน เช่น จอดรถเพื่อไปลงเปิดประตูบ้านหรือไปซื้อของริมถนน ไม่ควรใช้ตำแหน่ง N แต่ควรใช้ตำแหน่ง P และใส่เบรคมือทุกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้รถพุ่งไปข้างหน้า
หากต้องการเปลี่ยนเกียร์ไปตำแหน่งอื่น เช่น จากตำแหน่ง N ไป D หรือ R ต้องทำในขณะที่รถยนต์จอดสนิท และควรเหยียบเบรกป้องกันกันรถเคลื่อน
4. ไม่ควรออกตัวกระชาก
การออกตัวกระชากด้วยวิธีการเร่งเครื่องยนต์รอ ถือเป็นการออกตัวที่รวดเร็วทันใจ หลายๆ คนจึงมักใช้วิธีเบิ้ล หรือเร่งเครื่องยนต์ก่อน จากนั้นจึงเข้าเกียร์เดินหน้า D จะทำให้ชุดทอร์คคอนเวอร์เทอร์ได้รับแรงบิดมากจนเกินไป ส่งผลให้อายุการใช้งานสั้นลง ดังนั้น ควรเหยียบคันเร่งหลังจากที่เกียร์อยู่ในตำแหน่ง D แล้วเท่านั้น
แม้วิธีนี้จะช่วยทำให้ออกตัวได้เร็วกว่าเดิมก็จริง แต่มันก็ได้สร้างความเสียหายให้แก่ชุดเกียร์ และเพลาขับ รวมไปถึงยางรถยนต์โดยใช่เหตุ ออกเบาๆ ปลอดภัยกว่าเยอะ
ที่สำคัญก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์ควรตรวจสอบให้เกียร์อยู่ในตำแหน่ง P และสตาร์ทเครื่องยนต์ในขณะที่เกียร์อยู่ในตำแหน่ง P เท่านั้น เพราะหากคันเกียร์คร่อมอยู่ในตำแหน่ง P – R แรงสั่นสะเทือนจากการสตาร์ทเครื่องยนต์ อาจทำให้เกียร์ดีดไปเข้าเกียร์ R ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
5. ไม่ควรจอดทางลาดด้วยเกียร์ P เพียงอย่างเดียว
แม้ว่าการใส่เกียร์ P จะทำให้รถไม่ไหล แต่ก็ไม่ควรจอดรถบนทางลาดชันด้วยเกียร์ P เพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้สลักเกียร์เกิดความเสียหายจากการรับน้ำหนักตัวรถได้ ทางที่ดีเมื่อจอดรถเสร็จ ควรดึงเบรกมือขึ้นจนสุดเสียก่อน แล้วค่อยใส่เกียร์ P วิธีนี้จะทำให้ภาระการรับน้ำหนักรถไปอยู่ที่เบรกแทน
อีกกรณีก็คือ เมื่อจอดติดไฟแดงหรือจอดไว้ข้างทางที่มีรถวิ่งอยู่ หากเข้าเกียร์ P ไว้ สลักล็อกในชุดเกียร์ก็จะทำงาน ทำให้เมื่อเกิดอุบัติถูกชนท้ายขึ้นมา มันก็จะก่อให้เกิดความเสียหายกับชุดเกียร์มากขึ้น ดังนั้นคุณจึงควรใช้เกียร์ P เฉพาะบางพื้นที่ เช่น จอดรถในบ้าน ที่จอดรถในห้าง หรืออาคารจอดรถ เท่านั้น
วิธีการดูแลรักษาเกียร์ออโต้
การดูแลรักษาเกียร์ออโต้ หรือเกียร์อัตโนมัติ อาจจะต้องใส่ใจมากกว่าเกียร์ธรรมดา เพราะค่าซ่อม ค่าเปลี่ยนใหม่ ค่อนข้างที่จะแพงเอาเรื่อง ดังนั้นเมื่อถึงเวลาตรวจเช็ก หรือเช็กระยะ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ ก็ควรที่จะทำทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ไม่งั้นได้เสียเงินมากกว่าเดิมแน่ๆ
เพื่อความปลอดภัยของคุณระหว่างการใช้รถใช้ถนน 5 สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อขับรถเกียร์ออโต้ คือสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้!เพิ่มความปลอดภัย ประหยัดเชื้อเพลิง ยืดอายุการใช้งานรถยนต์ระบบเกียร์อัตโนมัติอีกด้วย!