เข็มขัดนิรภัย ELR และ ALR ต่างกันอย่างไร?
เข็มขัดนิรภัย ELR และ ALR ต่างกันอย่างไร?
ก่อนขับรถยนต์ทุกครั้ง สิ่งที่ทุกคนต้องห้ามลืมเด็ดขาด คงจะหนีไม่พ้น การคาดเข็มขัดนิรภัย อุปกรณ์ความปลอดภัยที่สำคัญที่สุด และเป็นอ็อพชั่นพื้นๆ ที่รถทุกรุ่น ทุกค่ายต้องมี!
เพื่อนๆ คนไหนเคยเห็นรถยนต์ที่ผลิตออกมาขายแล้วไม่มีเข็มขัดนิรภัย ไหมคะ? ตอบได้เป็นเสียงเดียวกันเลยว่าไม่มี เพราะ Seat Belt หรือ เข็มขัดนิรภัย ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้คนใช้รถมีความปลอดภัย เช่นเดียวกับถุงลมนิรภัยคู่หน้าหรือเบรค ABS หลายคนอาจจะเคยดูข่าวที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยแล้วเกิดอุบัติเหตุทำให้เสียชีวิตกันก็มาก แต่ต้องยอมรับเลยว่าคนที่ไม่ยอมคาดเข็มขัดนิรภัยก็ยังมากอยู่เหมือนเดิม
เข็มขัดนิรภัย ช่วยป้องกันเราจากอุบัติเหตุยังไง?
เข็มขัดนิรภัย ช่วยรั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารไม่ให้พุ่งไปชนแผงคอนโซล หรือกระจกบังลมหน้าเมื่อเกิดการชน พร้อมกับช่วยลดการกระแทกระหว่างคอกับหมอนรองคอเมื่อถูกชนจากด้านท้าย และช่วยลดการบาดเจ็บจากการกระแทกกับถุงลมนิรภัย รวมถึงในรถบางรุ่นยังมีเข็มขัดนิรภัยบริเวณเบาะหลัง ที่ป้องกันการพุ่งชนกับผู้โดยสารตอนหน้าด้วย
เข็มขัดนิรภัยในรถรุ่นต่างๆ มีทั้งหมด 2 แบบ คือ แบบรั้งตัวและดึงกลับอัตโนมัติ และแบบล็อกโดยอัตโนมัติ
แบบเข็มขัดนิรภัยแบบรั้งตัวและดึงกลับอัตโนมัติ (Emergency Locking Retractor หรือ ELR)
เข็มขัดชนิดนี้จะใช้ชุดเฟืองในการจัดเก็บหรือดึงสายเพื่อมาใช้งาน เมื่อผู้ใช้งานดึงเข็มขัดมาสวมใส่กลไกนี้จะปรับความยาวให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติ เมื่อตัวล็อกสายเกิดการเปลี่ยนแปลงองศาจากการถูกดึงอย่างรุนแรงก็ ทำการล็อคเฟืองและค่อยๆ คลายชิ้นส่วนเฟืองและสายให้อยู่ในสภาพปกติ รวมทั้งการเปลี่ยนองศาของตัวรถทั้งขึ้นเนินลงเนิน หรือทางเอียง กลไกก็จะล็อกสายให้เองโดยอัตโนมัติ
ส่วนมากจะพบได้ในเข็มขัดนิรภัยแบบล็อก 3 จุด ที่เบาะนั่งคู่หน้า, เบาะนั่งริมหน้าต่าง รวมไปถึงเบาะนั่งตรงกลางด้านหลังของรถรุ่นใหม่ๆ
- ข้อดี ขยับได้อย่างอิสระ ไม่รัดแน่นจนเกินไป เคลื่อนไหวง่าย คล่องตัวในการขับขี่ โดยเฉพาะบริเวณที่นั่งคนขับที่ต้องอาศัยกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมรถ ช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการถูกสายรัดได้ดีกว่า และที่สำคัญก็คือสามารถรองรับการทำงานร่วมกับถุงลมนิรภัยได้ด้วย
- ข้อเสีย ด้วยความที่ยังเคลื่อที่ได้ ทำให้เวลาที่ต้องยึดเบาะเด็กจะต้องใช้ตัวล็อกสายด้วย เนื่องจากเข็มขัดชนิดนี้คลายตัวได้ง่ายมาก
แบบล็อกโดยอัตโนมัติ (Automatic Locking Retractor หรือ ALR)
กลไกในเข็มขัดแบบนี้คือ ผู้ใช้งานสามารถดึงสายในความยาวที่ต้องการได้และจะล็อกทันทีที่มีการปรับเสร็จ ซึ่งหากผู้ใช้ดึงสายผิดวิธีหรือกระชากก็จะล็อกโดยอัตโนมัติด้วยเหมือนกัน ส่วนใหญ่ใช้กับตัวล็อกแบบ 2 จุด ปรับล็อกได้ตามสรีระของคน เช่นบนเครื่องบินหรือเบาะนั่งตอนหลัง เข็มขัดชนิดนี้ประกอบกลไกแบบไม่ซับซ้อนเท่า ELR
- ข้อดี สามารถยึดเบาะเด็กได้มั่นคงกว่า ประหยัดพื้นที่เนื่องจากชุดเข็มขัดดังกล่าวมีขนาดที่เล็ก ประยุกต์แบบยึดเข็มขัดได้ตั้งแต่ 2 จุด – 3 จุด ซึ่งส่วนมากเข็มขัดนิรภัยลักษณะนี้จะอยู่ที่เบาะหลังมากกว่า
- ข้อเสีย สร้างความอึดอัดให้กับผู้โดยสารเป็นอย่างมากเมื่อจากเข็มขัดชนิดนี้ล็อกอยู่ทรง ไม่สามารถขยับได้เยอะ ทำให้เคลื่อนไหวได้ยากลำบาก
ถึงจะเป็นเข็มขัดนิรภับแบบไหน ก็ต้องคาดทุกครั้งที่ใช้รถนะ เพราะถ้าไม่คาดเข็มขัดนิรภัยนอกจากจะอันตรายแล้วยังผิดกฎหมาย พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2538 ผู้ขับรถและผู้นั่งตอนหน้าแถวเดียวกับผู้ที่ขับรถ หากไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จะถือว่ามีความผิด ต้องถูกปรับ รายละไม่เกิน 500 บาท ส่วนในต่างประเทศนั้น ครอบคลุมถึงผู้โดยสารที่นั่งด้านหลัง จะต้องล็อกเข็มขัดนิรภัยด้วย
อีกอย่างที่ทุกคนควรรู้ก็คือ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ถุงลมอาจจะไม่ทำงาน ถ้าเกิดมีอุบัติเกตุเกิดขึ้นแล้วเกิด แรงปะทะ ตัวคุณอาจจะกระเด็นไปอย่างไร้ทิศทาง และไปกระแทกกับถุงลมนิรภัยที่พองตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความรุนแรงทวีคูณทำให้อาจจะเสียชีวิตได้
ในรถรุ่นใหม่ๆ ในขณะนี้จึงถูกออกแบบ ให้เมื่อไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัยก็จะไม่ทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดแรงปะทะ และแน่นอนหากไม่มีเครื่องป้องกันอย่างเข็มขัดและถุงลมนิรภัย คุณอาจจะบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต ดังนั้น ผู้ที่ใช้ตัวเสียบแป้นเข็มขัดนิรภัยหลอกๆ ที่ขายตามอินเตอร์เน็ตมาใช้ โดยที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยจริง ๆ จึงยังมีความเสี่ยงอยู่ แม้ว่าจะขับรถยนต์รุ่นใหม่ มีเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยก้าวล้ำมากแค่ไหน ก็คงไม่ช่วยอะไรเลยแน่ๆ